เผยดีมานด์-ซัปพลาย EEC 9 เดือนหดตัวชัดหลังโควิดระบาด รัฐคุมเข้มแคมป์ก่อสร้างการเข้าออกพื้นที่สีแดง

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ เผยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 ในพื้นที่ EEC หดตัว -0.3% จากไตรมาส 2/64 ที่ขยายตัว 7.6% หลังได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และการจำกัดการเดินทางเข้าออกในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการปิดแคมป์ก่อสร้าง ส่งผลให้งานก่อสร้างหดตัว -4.1%

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 64 ทั้งมิติของซัปพลายด้านการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน พบว่าต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี หรือในรอบ 34 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 56 และการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 64 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่มีทิศทางดีขึ้นโดยในไตรมาส 3 การออกใบอนุญาตก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยเป็นบวก 13.3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน

ขณะที่ดีมานด์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย พบว่าจำนวนหน่วยลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 62 ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 (มกราคม-กันยายน) มีอัตราการขยายตัวติดลบในไตรมาส 1 ที่ -2.6% ขณะที่ไตรมาส 2 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.6% แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ไตรมาส 3 กลับมาติดลบ -0.3% ส่งผลให้ทั้งซัปพลายและดีมานด์ของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 (มกราคม-กันยายน) หดตัวลงอย่างชัดเจน

โดย ซัปพลายการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย -31.3% และ -34.6% ตามลำดับ แต่ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปี 63 ส่วนด้านดีมานด์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า -18.3% และ -16.3% ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 64 แม้มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก รวมถึงการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 64 และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือ 10% ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยลดภาระของผู้ซื้อและผู้ประกอบการอสังหาฯ

นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราวสำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 64 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 65 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 นับเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัด EEC ลดลงไม่รุนแรงตามที่คาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ต้นปี

นอกจากนี้ การเปิดประเทศในต้นเดือนธันวาคม 64 โดยจังหวัดชลบุรี และระยองเป็นพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัวเป็นบวก 1.2% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลง -6.1% ในปี 63

ดังนั้น จากทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่กล่าวมา ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่าในปี 64 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในด้านซัปพลายการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดินจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -31.3% ถึง -16.0% การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -9.1-11.2% ส่วนด้านดีมานด์ในปี 64 คาดการณ์ว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -30.3-14.8% แต่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัว -18.3 ถึง -0.1 เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นจากปี 63

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket